ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หลายๆ ชุมชนมีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง หรืออาศัยร่วมกับเด็กเล็ก เพราะวัยกลางคนซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวต้องออกจากบ้านเพื่อหาเงินเลี้ยงดู จึงเป็นไปได้ว่า ไม่มีเวลาเอาใจใส่ในเรื่องการดูแลได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ผู้สูงวัยเป็นโรคเรื้อรัง เกิดความเครียด เป็นโรคซึมเศร้า สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ของครอบครัว ชุมชนอีกด้วยด้วยนะคะ
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด จัดกิจกรรม “สุขสามวัย กับสมุนไพรสุขภาพ” ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ในการดูแลผู้สูงวัยอย่างยั้งยืนและสานสัมพันธ์คนในครอบครัวให้ดูแลสุขภาพร่วมกัน ด้วยวิธีง่ายๆ ที่หน่วยงาน องค์กรที่ต้องการช่วยเหลือ ผลักดันให้กลุ่มผู้สูงวัยใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน สามารถนำไปปรับใช้กับชุมชนของท่านได้ ดังนี้
1. ช่วยเหลือด้วยการเยี่ยมบ้าน : เพราะหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเรื่องสุขภาพผู้สูงวัยลงพื้นที่โดยการเยี่ยมผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ พูดคุยถึงการดูแล ความเอาใส่ใจในการตรวจเช็คร่างกายสุขภาพ ก็จะเป็นการเพิ่มความเชื่อใจให้ผู้สูงวัยในชุมชนได้เห็นถึงประโยชน์ของการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง และสร้างความรู้ให้คนในครอบครัวได้ตระหนักถึงการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องใส่ใจได้อีกด้วย
2. ช่วยให้ความรู้ : เนื่องจากผุ้สูงอายุยังมีรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่ปรับเปลี่ยนไปตามสังคมที่เกิดขึ้นได้น้อย และยังใช้ชีวิตในรูปแบบเก่าที่ขาดความรู้ความเข้าใจ เช่น การเลือกกินอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ การปรุงอาหารที่ต้องลด หวาน มัน เค็ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย ควรให้ความรู้ในการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และลดการกิน หวาน มัน เค็ม จากเครื่องปรุงที่เสี่ยงต่อร่างกายให้เกิดโรคต่างๆ โดยให้ความรู้คนในครอบครัว เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ถูกวิธี เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้สูงวัยได้เริ่มต้นปรับพฤติกรรมหันมาดูแลใส่ใจเรื่องการกินที่ดีต่อสุขภาพได้
3. ชวนทำตามเทคนิค : สิ่งที่ผู้ดูแลผู้วัยต้องทำต่อมาคือการชักชวนให้ผู้สูงวัย และคนในบ้านปฏิบัติตามเทคนิคในการดูแลเรื่องสุขภาพ เช่น การตรวจเช็คความดัน โดยสามารถสอดแทรกความรู้ในเรื่องการอ่านค่าความดันต่างๆ ให้คนในครอบครัวได้ร่วมเป็นหมอประจำบ้านที่จะคอยตรวจเช็คสุขภาพผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี และยังเป็นการเตรียมความพร้อมสุขภาพของตัวเองก่อนสู่วัยสูงอายุอีกด้วยนะคะ
4. สร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เมื่อปฏิบัติทุกสิ่งร่วมกันแล้ว สิ่งที่ส่งผลให้ผู้สูงวัยสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย จิตใจแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้คนในครอบครัวได้รู้จักดูแลสุขภาพตัวเอง และคนในครอบครัวอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า หน่วยงาน หรือองค์กร ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงวัย สามารถนำเทคนิคเพื่อไปปรับใช้ในการดูแลผู้สูงวัยในชุมชนของท่านให้มีสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค เชื่อแน่นอนว่า ทุกครอบครัวในชุมชนหากช่วยกันดูแล เอาใจใส่ สุขภาพแข็งแรงแน่นอนค่ะ
....................................................
สามารถติดตามกิจกรรม และองค์ความรู้ดีๆ เพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียน หน่วยงาน และองค์กรของท่านได้ที่นี่ http://www.thaihealthcenter.org/campaign